กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร
เทศบาลนครในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Strategy for transformational leadership development 
of the City Municipality Executives in the Northeastern Region

Classification :.DDC: 352.6
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนคร ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
2) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนคร และ 3) นำเสนอกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ
ผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณดำเนินการ
โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 302 คน ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาลนครและเจ้าหน้าที่เทศบาลนคร 5 แห่ง ประกอบด้วย ขอนแก่น อุดรธานี 
สกลนคร อุบลราชธานี และนครราชสีมา กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครจซี่ และมอร์แกน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่ง
ชั้นภูมิตามสัดส่วน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่มีระดับความเชื่อมั่น 0.82 และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย 
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติการวิเคราะห์ถดถอยแบบขั้นตอน และการวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการโดย การสัมภาษณ์เชิงลึก มีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 20 คน 
ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารจังหวัด ปลัดเทศบาลนคร ประธานสภาเทศบาลนคร และรองนายกเทศมนตรี โดยการเลือกแบบเจาะจง และได้จัด
การสนทนากลุ่มจำนวน 1 กลุ่ม มีผู้ร่วมสนทนากลุ่ม 10 คน ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร ประธานสภาเทศบาลนคร ผู้เชี่ยวชาญด้าน
การบริหารเทศบาลนครและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้บริหารองค์การ โดยการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิง
เนื้อหาและการตีความ ผลการศึกษาพบว่า 1) ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระดับการ
ปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.93, S.D. = 0.57) และรายด้านอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ดังนี้ 
ด้านมุ่งพิจารณาปัจเจกชน ( = 4.29, S.D. = 0.50) ด้านการกระตุ้นทางปัญญา ( = 3.97, S.D. = 0.57) ด้านการจูงใจโดยแรงบันดาลใจ 
( = 3.89, S.D. = 0.48) และด้านการมีอิทธิพลเชิงอุดมการณ์ ( = 3.56, S.D. = 0.51) ผลการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มพบว่า เทศบาลนคร
ไม่มีกลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่มีแผนปฏิบัติการประจำปีที่กำหนดกิจกรรมการพัฒนาผู้บริหารเทศบาลให้มีภาวะผู้นำ
การเปลี่ยนแปลง เช่น การมอบอำนาจ การจัดการเชิงกลยุทธ์ โดยผู้บริหารได้ปฏิบัติตามบทบาทภารกิจเพื่อสร้างให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ 
เคารพความเป็นปัจเจกชน และเคร่งครัดการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และกฎระเบียบที่วางไว้ และเห็นความสำคัญ
ของการทำงานเป็นทีมและมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 2) ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัด 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ เรียงตามลำดับค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยบางส่วน ดังนี้ (1) ปัจจัยภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง 
(β = 0.274) ประกอบด้วย การเป็นผู้มองการณ์ไกล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความซื่อสัตย์กล้าหาญ และรักการเรียนรู้ (2) ปัจจัยธรรมาภิบาล 
(β = 0.205) ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า 
และ (3) ปัจจัยภายนอกเทศบาล (β = 0.199) ประกอบด้วย นโยบายภาครัฐ กฎหมายและระเบียบ และความร่วมมือ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยนี้ 
อธิบายความผันแปรของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้อยละ 77.10 
(R2 = 0.771) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นอกจากนี้ ผลการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มพบว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลต่อ
ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงคือการตัดสินใจของผู้บริหารเพราะช่วยให้การบริหารจัดการมีความคล่องแคล่วรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ และตอบสนองต่อ
สภาวะการเปลี่ยนแปลงภายนอกขององค์การซึ่งควบคุมได้ยาก ต้องอาศัยการตัดสินใจที่ถูกต้องโดยการทำงานเชิงรุกและริเริ่มสร้างสรรค์ 
3) กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยกลยุทธ์
ที่สำคัญ 4 ประการคือ กลยุทธ์ที่ 1 กลยุทธ์การพัฒนาลักษณะและทักษะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดย (1) สร้างนิสัยมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรค 
(2) สร้างความอดทนต่อแรงกดดัน (3) เพิ่มความเปิดเผย (4) เพิ่มความเห็นพ้อง และ (5) สร้างความซื่อตรง ลักษณะทั้งหมดนี้ ต้องดำเนินการ
ด้วยโปรแกรมอบรมภาวะผู้นำ กลยุทธ์ที่ 2 กลยุทธ์การนำการเปลี่ยนแปลง โดย (1) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (2) มอบหมายงาน
ให้เหมาะสม โดยกำหนดความรับผิดชอบให้ชัดเจน จัดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เพียงพอ และกำหนดขอบเขตของดุลยพินิจ (3) มอบอำนาจอย่างเหมาะสม
โดยต้องมุ่งจูงใจภายในจิตและประสิทธิภาพในตนเองรวมถึงบุคลากร เริ่มต้นโดยทำความชัดเจนของวัตถุประสงค์ กระตุ้นเร้าและสนับสนุนทีม 
และกำหนดมาตรฐานคุณธรรมองค์การ กลยุทธ์ที่ 3 กลยุทธ์การจัดการ โดย (1) พัฒนาวิสัยทัศน์ โดยเชื่อมต่อและยึดมั่นในวิสัยทัศน์โน้มน้ามให้
เห็นความเป็นไปได้ สร้างความมั่นใจและการมองโลกแง่ดี (2) พัฒนาหัวหน้าและทีมบริหารสภาเทศบาล โดยใช้อาณัติอำนาจทางการเมืองและบารมี
ช่วยให้แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการบรรลุผล ผู้นำต้องบูรณาการงานตามหน้าที่ของเทศบาลนครให้เกิดเอกภาพ พร้อมทั้งกำหนดระบบติดตาม
ผลความก้าวหน้าของงาน กลยุทธ์ที่ 4 กลยุทธ์การพัฒนาพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดเป็นตัวชี้วัดในการวัดผลลัพธ์ของงานและการประเมินผล 
โดย (1) สร้างอิทธิพลเชิงอุดมการณ์ ให้ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์ ความยอมรับ ความภักดี ความนับถือ และคุณธรรม (2) ขยายการจูงใจโดยแรง
บันดาลใจ ด้วยการพัฒนาทักษะของผู้บริหารให้มีความสามารถในการสื่อสาร การสร้างจิตวิญญาณทีมงาน (3) สร้างการกระตุ้นทางปัญญา โดยใช้กระบวน
การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงกรอบการมองปัญหาและเผชิญสถานการณ์ การกระตุ้นให้มีการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรมใน
องค์การ และ (4) สร้างการมุ่งพิจารณาปัจเจกบุคคล โดยให้ความเอาใจใส่เคารพและศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การแนะนำงานและปรึกษา 
สร้างวัฒนธรรมองค์การเชิงสร้างสรรค์

มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ


อ้อยฤดี  สันทร (2562).กลยุทธ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
วิทยานิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบรายงานผลการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี e-budget